NEWS & EVENT
ค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567
ค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567
08 Oct, 2024 / By wingssubcontract
Images/Blog/q2LbUOTD-line_oa_chat_241008_160723.jpg

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หมายถึง อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 โดยคณะกรรมการค่าจ้างมีแนวคิดเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า “เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น”

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน

คณะกรรมการค่าจ้างได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังแต่ละภูมิภาค โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ เป็นองค์กรไตรภาคีเช่นเดียวกับคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้ทำหน้าที่เสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยใช้สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการคำนวณ คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) อัตราการสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ และตัวแปรเชิงคุณภาพตามมาตรา 87 โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ. 2567 และพิจารณาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของลูกจ้างในช่วง 11 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2566 ได้ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง ดังนั้น เพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานทั่วไปที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ คณะกรรมการค่าจ้างจึงได้มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 บาท ถึง 16 บาท เป็นอัตราวันละ 330 บาท ถึง 370 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 เป็นต้นไป

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศไม่มีผลบังคับใช้กับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหาผลกำไรในทางเศรษฐกิจ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล นายจ้างที่ตกลงจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างทำงานตลอดปี และมิได้ให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่เป็นงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานเกษตรกรรม

นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเป็นเงินให้แก่ลูกจ้างทุกคนไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะมีเชื้อชาติ สัญชาติ วัย หรือเพศใด สำหรับนายจ้างรายใดได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ถือว่านายจ้างรายนั้นปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ส่วนนายจ้างรายใดที่ยังจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ปรับค่าจ้างให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการดำเนินการอยู่

ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยในแต่ละพื้นที่ในประเทศ มีอัตราการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละจังหวัด เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ขนาดอุตสาหกรรม และความจำเป็นในการใช้แรงงานที่แตกต่างกันออกไป โดยมีอัตราค่าแรง ดังนี้

  • 330 บาท – นราธิวาส, ยะลา, ปัตตานี
  • 338 บาท – ตรัง, น่าน, พะเยา, แพร่
  • 340 บาท - กำแพงเพชร, พิจิตร, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, เลย, ศรีสะเกษ, สตูล, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี
  • 341 บาท - ชัยนาท, ชัยภูมิ, พัทลุง, สิงห์บุรี, อ่างทอง
  • 342 บาท - กาฬสินธุ์, นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, เพชรบูรณ์, ร้อยเอ็ด
  • 343 บาท - นครสวรรค์, ยโสธร, ลำพูน
  • 344 บาท - ชุมพร, เพชรบุรี, สุรินทร์
  • 345 บาท - กาญจนบุรี, จันทบุรี, เชียงราย, ตาก, นครพนม, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา. พิษณุโลก, มุกดาหาร, สกลนคร, สงขลา, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี
  • 347 บาท - กระบี่ ตราด
  • 348 บาท - นครนายก, สุพรรณบุรี, หนองคาย
  • 349 บาท - ลพบุรี 
  • 350 บาท - ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, เชียงใหม่, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี
  • 351 บาท – สมุทรสงคราม
  • 352 บาท – นครราชสีมา
  • 361 บาท - ชลบุรี, ระยอง
  • 363 บาท – กรุงเทพ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร
  • 370 บาท – ภูเก็ต

 (อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ บาท/วัน)

กระทรวงแรงงาน. (8 ธันวาคม 2566). อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ. เข้าถึงได้จาก กระทรวงแรงงาน: https://www.mol.go.th/

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.