Turnover Rate กับผลกระทบที่ตามมา
ทุกการลาออกของพนักงานย่อมส่งผลกระทบต่อองค์กรเสมอ มาดูกันดีกว่าว่า ผลกระทบที่องค์กรต้องเผชิญเมื่อพนักงานลาออก มีอะไรบ้าง
1. เสียเงิน เสียเวลาและทรัพยากร เพื่อรับสมัครพนักงานใหม่ แล้วกระบวนการรับสมัครนั้นก็มีหลายขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะได้พนักงานมาช่วยเติมเต็มองค์กร ไม่เพียงแค่นั้นยังเสียเงินและเสียเวลาฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจเป้าหมายของงานที่ทำ และทำให้เขาเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรด้วย กลายเป็นว่าแทนที่องค์กรจะโฟกัสกับการหารายได้เต็มที่ กลับต้องเจอรายจ่ายระหว่างทางมาบดบังผลกำไรแทน หากเป็นกรณีไล่ออก บริษัทยังต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายหรือสัญญาจ้าง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ต้องเสียค่าจ้างทนาย สู้คดีหรือดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย
2. สูญเสีย Productiviry ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน บางครั้งหาคนไม่ได้ ก็ทำให้พนักงานในทีมต้องรับงานหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่าผลิตผลที่ได้จะน้อยลงหรือได้ช้ากว่าเดิมนั่นเอง
3. การลาออกของพนักงานสักคน ย่อมส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานที่ยังอยู่ไม่มากก็น้อย อาจนำไปสู่กำลังใจในการทำงานที่ลดลง ประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง จนสุดท้ายเกิดการลาออกเพิ่มขึ้น
4. การลาออกหรือไล่คนออกยังมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์บริษัท ทำให้บุคคลภายนอกตั้งคำถามถึงสถานะความมั่นคงขององค์กร อาจทำให้พนักงานที่เหลือรู้สึกไม่มั่นคงในชะตาของตัวเอง นำมาสู่ความเครียดที่มากขึ้นด้วย
Turnover Rate ต่ำ ดีจริงหรือไม่
จากผลกระทบด้านบนจะเห็นว่า Turnover Rate ที่สูงนั้นมีแต่เรื่องแย่ ๆ ทั้งนั้น จนอาจคิดว่าการมี Turnover Rate ต่ำน่าจะเป็นเรื่องดีเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามเหรียญทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ Turnover Rate ที่ต่ำไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป โดยเราสามารถสรุปออกมาคร่าว ๆ ได้ดังนี้
ข้อดีของ Turnover Rate ต่ำ
ช่วยรักษาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ทำให้ความรู้และทักษะไม่ได้สูญหายไปช่วยรักษาความต่อเนื่องในการทำงาน ไม่มีการหยุดชะงักเนื่องจากการลาออกของพนักงาน ลูกค้าจะรู้สึกมีความพึงพอใจมากขึ้น เมื่อพนักงานที่ให้บริการหรือทำงานร่วมกันเป็นคนเดิม องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาพนักงานใหม่และการฝึกอบรมพนักงานใหม่ได้มหาศาล
ข้อเสียของ Turnover Rate ต่ำ
พนักงานที่อยู่มานานอาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทการทำงานใหม่ ๆ ไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดีเมื่อเทียบกับพนักงานใหม่ พนักงานอาจรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานแบบเดิม ๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานลดลงด้วย ขาดความท้าทายและการพัฒนา เพราะอยู่ในตำแหน่งเดิมนาน จนไม่รู้สึกว่าต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ
คำนวณ Turnover Rate คิดอย่างไร
เวลาเราพูดกันว่า ยอด Turnover Rate มากหรือน้อย HR ไม่ได้จู่ ๆ จะนั่งเทียนตัวเลขขึ้นมาเอง แต่มันมาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ซึ่งมีวิธีคำนวณของมันอยู่หลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1. คำนวณแบบพื้นฐาน (Basic Turnover Rate)
Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน) x 100
ตัวอย่าง : ถ้าในช่วงเวลาหนึ่งปี มีพนักงานลาออก 20 คน และจำนวนพนักงานเฉลี่ยในปีนั้นคือ 200 คน
Turnover Rate = (20÷200) x 100 = 10%
2. คำนวณแบบแยกประเภทการลาออก (Voluntary และ Involuntary Turnover Rate)
Voluntary Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน) x 100
Involuntary Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ถูกปลด ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน) x 100
ตัวอย่าง : ถ้าในปีนั้น มีพนักงานลาออกโดยสมัครใจ 15 คน และถูกปลดออก 5 คน จากพนักงานเฉลี่ย 200 คน จะคำนวณได้ดังนี้
Voluntary Turnover Rate = (15÷200) x 100 = 7.5%และ Involuntary Turnover Rate: = (5÷200) x 100 = 2.5%
3. คำนวณแบบรายเดือน (Monthly Turnover Rate)
Monthly Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในเดือนนั้น ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในเดือนนั้น) x 100
ตัวอย่าง :เดือนมิถุนายน 2024 มีพนักงานลาออก 3 คน และจำนวนพนักงานเฉลี่ยในเดือนนั้นคือ 150 คน
Monthly Turnover Rate ประจำเดือนมิถุนายน 2024 = (3÷150) x 100 = 2%
4. คำนวณแบบ Rolling Turnover Rate
Rolling Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วงเวลาที่กำหนด ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาที่กำหนด) x 100
วิธีนี้ใช้ในการคำนวณค่าเฉลี่ยของ Turnover Rate ในช่วงเวลาหลาย ๆ เดือนหรือหลาย ๆ ปี เพื่อให้เห็นแนวโน้ม
ตัวอย่าง : ถ้าในช่วงเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปีที่ผ่านมา มีพนักงานลาออก 30 คน จากจำนวนพนักงานเฉลี่ย 250 คน
ดังนั้น 1 ปีที่ผ่านมา Rolling Turnover Rate ขององค์กร = (30÷250) x 100 = 12%
5. คำนวณแบบเฉพาะเจาะจง (Specific Turnover Rates)
การคำนวณ Turnover Rate สำหรับกลุ่มพนักงานเฉพาะเจาะจง เช่น พนักงานในแผนกใดแผนกหนึ่ง หรือพนักงานในระดับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง Specific Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในกลุ่มเฉพาะ ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในกลุ่มเฉพาะ) x 100
ตัวอย่าง : ในฝ่าย HR มีพนักงานลาออก 5 คน จากจำนวนพนักงานเฉลี่ยในแผนก 50 คนSpecific Turnover Rate =
(5÷50) x 100 = 10%
สรุป
ผลกระทบของอัตราการลาออกของพนักงานที่สูง
อัตราการลาออกของพนักงานที่สูงอย่างสม่ำเสมอในองค์กรสามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผลกำไรเป็นอย่างมาก จากการวิเคราะห์ของ Gallup พบว่าการหาพนักงานทดแทน 1 คน จะทำให้องค์กรต้องเสียเงินเป็นจำนวน 1.5 ถึง 2 เท่าของเงินเดือนประจำปีของพนักงาน ซึ่งถ้ามองในระดับมหาภาค ปัญหานี้มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วประเทศต้องเผชิญ และนอกเหนือจากตัวเงินที่ต้องเสียไปก็ยังมีผลกระทบทางด้านลบอื่น ๆ อีกมากมายเช่น การทำงานเกินกำลังของพนักงานที่ยังอยู่ เนื่องจากงานของอดีตพนักงานจำเป็นต้องถูกแจกจ่ายให้กับพนักงานคนอื่น ขวัญกำลังใจในการทำงานของพนักงานที่ลดลง และการขาด Talent หรือพนักงานที่มีความสามารถ ที่ไม่เพียงแต่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย